ในช่วงเดือนธันวาคม  พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นเข้าโจมตีฐานทัพเรืออเมริกันที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ ฮาวาย นอกจากนี้ยังบุกมลายู กลางปี พ.ศ. 2485 กำลังทหารญี่ปุ่นดำเนินการสู้รบกับทหารอังกฤษในพม่า  โดยมีวัตถุประสงค์สุดท้ายคือการรุกไปสู่อินเดีย  แต่การดำรงกองทัพอยู่ในพม่าได้นั้นญี่ปุ่นจำเป็นต้องใช้  เส้นทางการส่งกำลังที่ปลอดภัยมากกว่าเส้นทางเดินเรือทางทะเล  ระหว่างสิงคโปร์กับย่างกุ้ง  ซึ่งมีความล่อแหลมต่อการถูกโจมตี  ดังนั้นญี่ปุ่นจึงตัดสินใจสร้างทางรถไฟ  ซึ่งมีความยาวประมาณ 415 กิโลเมตร  ผ่านป่าและภูเขาจากบ้านโป่งในประเทศไทยไปยังตันบูซายัตในประเทศพม่า

การสร้างทางรถไฟ
ในการสร้างทางรถไฟสายนี้  ญี่ปุ่นได้รวบรวมแรงงานหลายชาติประกอบด้วยแรงงานชาวเอเชียประมาณ 250,000 คน  และเชลยศึกชาวออสเตรเลียอังกฤษ ดัตช์ และอเมริกัน มากกว่า 60,000 คน  การก่อสร้างเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม  พ.ศ. 2485  ในเขตตอนใต้ของประเทศพม่า ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการก่อสร้างในประเทศไทย  ต่อมาในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2486  รางรถไฟก็สามารถเชื่อมต่อกันที่จุดแก่งคอยท่าในประเทศไทย
เครื่องมือที่ทันสมัยมีใช้งานน้อยมากในการก่อสร้างรางรถไฟครั้งนี้  การขุดดินหรือกะเทาะหินนั้นใช้พลั่ว  ชะแลง  แล้วขนย้ายดินหรือหิน  ด้วยกระบุงหรือกระสอบ  รวมทั้งการถมแนวรางรถไฟก็ใช้แรงงานคนเป็นหลัก เครื่องตอกหรือค้อนใหญ่ถูกใช้เพื่อตัดหิน  เจาะรูและขุดหลุมเพื่อวางระเบิดสะพานตลอดแนวทางรถไฟสร้างด้วยไม้ที่ตัดจากป่าตามแนวรางรถไฟนั้นแทบทั้งหมด
จากเดือนเมษายน พ.ศ. 2486 การก่อสร้างดำเนินการรุดหน้าไปเร็วมาก เนื่องด้วยฝ่ายญี่ปุ่นต้องการให้การก่อสร้างแล้วเสร็จตามความคาดหมายคือเดือนสิงหาคม  ซึ่งถูกกำหนดเป็นเส้นตายของการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้  ห้วงเวลาดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นที่รู้จักกันในนามของห้วงเวลาแห่งความเร่งด่วน  (สปีโด้)  เชลยศึกและคนงานชาวเอเชียถูกลงโทษให้ทำงานจนค่ำ  ที่บริเวณซึ่งทำการตัดช่องเขาขาดนั้น  แสงแวบแวบจากกองไฟส่องกระทบเรือนร่างที่ผอมโซของคนงาน  จึงเป็นที่มาของชื่อ “ช่องไฟนรก” หรือช่องเขาขาด  การก่อสร้างที่เร่งรีบกอปรกับการระบาดของอหิวาตกโรคได้คร่าชีวิตของเชลยศึกและคนงานไปหลายพันคน
ในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2486 ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 ได้มีการขนอุปกรณ์ทางทหารประมาณ 220,000 ตัน  ผ่านเส้นทางรถไฟสายนี้  ทั้งๆที่ฝ่ายพันธมิตรได้ใช้การโจมตีทางอากาศต่อเส้นทางรถไฟแต่ญี่ปุ่นก็ยังสามารถดำเนินการขนย้ายอุปกรณ์ตามเส้นทางสายนี้ได้อย่างต่อเนื่อง
ในปัจจุบันระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร ของรางรถไฟยังใช้การได้จากบ้านหนองปลาดุกถึงสถานีน้ำตก


ความสูญเสียจากการสร้าง
จากเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร 60,000 คน ที่สร้างรางรถไฟนั้นเสียชีวิตประมาณร้อยละ 20 หรือประมาณ 12,399 คน และในส่วนของแรงงานพลเรือนประมาณ 70,000-90,000 คน ที่สังเวยชีวิตไปกับการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้สาเหตุการเสียชีวิตของเชลยศึกและแรงงานจำนวนสูงมากอย่างน่าใจหายนั้น เนื่องมาจากการขาดแคลนอาหารและสิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ รวมทั้งทหารญี่ปุ่นที่ดูแลการก่อสร้างยังดำเนินการทารุณกรรมต่อเชลยศึกและแรงงานพลเรือนด้วย
อาหารหลักสำหรับเชลยศึกได้แก่ ข้าว กับผักแห้ง และปลาแห้ง เพียงเล็กน้อยเท่านั้น การได้รับอาหารที่ไม่เพียงพอดังกล่าวส่งผลให้มีการค้าในตลาดมืดกับคนในท้องถิ่น สภาพการขาดแคลนอาหารนำไปสู่โรคภัยต่างๆ มากมาย รวมทั้งโรคเหน็บชา โรคขาดวิตามินบี (ผิวหนังอักเสบ) เชลยศึกมีสุขภาพที่อ่อนแอและอยู่ในสภาพที่น่าเวทนา จึงล้มป่วยด้วยโรคมาลาเรีย โรคบิด อหิวาตกโรค และโรคแผลเน่าเปื่อย
เชลยศึกพักอาศัยอยู่ในกระท่อมไม้ไผ่หลังคามุงจาก มีสภาพที่แออัด การปรุงอาหารและการจัดการสุขลักษณะภายในค่ายพักนั้นล้าสมัยมาก การขาดแคลนเสื้อผ้าและรองเท้าทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยมากขึ้น
ในวินัยทหารของญี่ปุ่นมีข้อกำหนดในการลงโทษโดยการทำร้ายร่างกาย  ดังนั้นเชลยศึกจึงถูกเฆี่ยนตีหรือโบยด้วยแส้พร้อมกับได้รับการลงโทษในรูปแบบอื่นๆจึงนับว่าเป็นห้วงการก่อสร้างรางรถไฟอย่างเร่งรีบในคราวนั้น
สิ่งต่างๆที่แรงงานชาวเอเชียหรือที่รู้จักในนามของ “โรมูชา”  ได้รับนั้นแย่ยิ่งกว่าเชลยศึกเสียอีกเนื่องจากแรงงานพลเรือนเหล่านี้ไม่มีแพทย์ทหาร (เสนารักษ์) คอยดูแลรักษา



องค์กร “วี”
ประเทศไทยเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นโดยไม่สมัครใจ  ดังนั้นชาวต่างชาติฝ่ายพันธมิตรที่อยู่ในประเทศไทยเหล่านั้นมีความห่วงใยต่อความเป็นอยู่ของเชลยศึก  จึงได้จัดตั้งองค์กร “วี” ขึ้นมาโดยได้รับการสนับสนุนจากนักธุรกิจที่เป็นกลาง  รวมทั้งคนไทยที่เข้าใจต่อสถานการณ์ในขณะนั้น  ซึ่งองค์กรวีได้แอบจัดส่งยาและอาหารแก่เชลยศึก


สันติภาพและสภาพภายหลังสงคราม
หลังจากการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้เสร็จสิ้นลง  เชลยศึกบางส่วนถูกส่งกลับไปยังสิงคโปร์  แต่บางส่วนก็ยังถูกกักไว้ในประเทศไทย  เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง  เชลยศึกถูกส่งกลับพร้อมการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม  เชลยศึกจำนวนมากฟื้นตัวดีขึ้นอย่างรวดเร็ว  อย่างไรก็ตาม  จากประสบการณ์ที่ได้พานพบเชลยศึกแทบทุกคนยังคงมีแผลในใจตลอดชีวิตเชลยศึกที่เสียชีวิตตามเส้นทางการก่อสร้างทางรถไฟนั้น  ได้รับการเก็บศพและนำไปทำพิธีฝังศพให้ใหม่ ณ สุสานสงครามเครือจักรภพ ( Commonwealth War Graves Commission Cemeteries) ที่ตันบูซายัตประเทศพม่า  สุสานช่องไก่และสุสานกาญจนบุรี  ส่วนศพเชลยศึกชาวอเมริกันนั้นถูกส่งกลับไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา

Go to top
JSN Dona 2 is designed by JoomlaShine.com | powered by JSN Sun Framework