ช่องเขาขาด (Hellfire Pass) เป็นเส้นทางสั้นๆ ของทางรถไฟสายไทย-พม่า สร้างขึ้นโดยเชลยศึกชาวออสเตรเลียและ เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร ที่ใช้ชีวิตในสภาพที่น่าเวทนาเป็นอย่างยิ่ง
ช่องเขาขาด หรือ “ช่องคอนยู” (Konyu Cutting) เป็นทางแคบที่ตัดผ่านเนินเขา มูลดิน ขอบทางรถไฟ และสะพานอยู่มากมาย ในอดีตช่องเขาขาดนี้ถือเป็นเส้นทางคมนาคมที่สะดวกที่สุด และต่อมาได้กลายมาเป็นสถานที่หลักของพิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด โดยทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2539 เพื่อรำลึกถึงเหล่าทหารที่ต้องทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสในการสร้างทางรถไฟสายนี้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  
การตัดทางผ่านภูเขา มูลดิน ขอบทางรถไฟและสะพานมีความจำเป็น ทว่าลำบากอย่างยิ่ง เนื่องจากภูมิประเทศแถบนี้เป็นเทือกเขาหินสูงชัน ทางรถไฟระยะทาง 110 เมตร จะทอดตัวจากชั้นหินด้านบนลงไปยังหุบเขาลึกที่ติดกับชั้นหินถัดไปใกล้กับฝั่งแม่น้ำแควน้อยทางด้านทิศเหนือ
การก่อสร้างช่องเขาขาดเริ่มด้วยแรงงานของเชลยศึกชาวออสเตรเลียจำนวน 400 คน โดยเริ่มขึ้นในวันอนุสรณ์ทหารผ่านศึกออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์(25 เมษายน)พ.ศ.2486 แต่การก่อสร้างในส่วนของช่องเขาขาดต้องล่าช้าไปจนถึงเดือน มิถุนายน พ.ศ.2486 ดังนั้นในเดือนกรกฎาคมปี เดียวกันจึงมีการเพิ่มแรงงานเชลยศึกชาวออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักรอีก 600 คน เพื่อให้การก่อสร้างเสร็จทันตามกำหนดภายใน 12 สัปดาห์
ในช่วงแรกการขุดเจาะพื้นดินลึก 17 เมตร เพื่อสร้างทางรถไฟ และการใช้กำลังคนในการขนย้ายดินนั้นใช้เครื่องมือ ขนาดเล็ก โดยเหล่าเชลยศึกจะใช้ค้อนหนัก 8 ปอนด์ สว่าน ระเบิด เสียม พลั่ว จอบและตะกร้าหวายอันเล็กๆ ส่วนเครื่องอัดอากาศ และค้อนเจาะหินนั้นได้มีการนำมาใช้ในภายหลัง
ในขณะที่ต้องทำงานท่ามกลางฤดูมรสุมที่รุนแรงและชุกชุมไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ แรงงานที่ก่อสร้างช่องเขาขาดยังต้องเผชิญกับความกดดันอย่างสูงจากวิศวกรชาวญี่ปุ่นและผู้คุมชาวเกาหลี โดยถูกบังคับให้ทำงานต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืนเป็นเวลา 16-18 ชั่วโมงนับจากเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2486 จนถึงเดือนสิงหาคมในปีเดียวกัน
ในระหว่างการสร้างสะพานให้เสร็จทันกำหนดการนั้น เหล่าเชลยศึกทหารสัมพันธมิตร ขนานนาม ช่องเขาขาดว่า “ช่องไฟนรก” ด้วยเหตุที่ผู้คุมชาวญี่ปุ่นบังคับให้เหล่านักโทษทำงานในเวลากลางคืน แสงสว่างจากคบไฟให้ความรู้สึกราวกับว่า ที่แห่งนี้เป็นขุมนรกจริงๆ เมื่อมองมาจากทางด้านบน
ในช่วงที่เร่งสร้างทางรถไฟให้เสร็จตามกำหนด  เรียกว่าช่วง “สปีโด้” หรือ “ห้วงเวลาเร่งรัด” มีผู้คนล้มตายจำนวนมาก  ดังจะเห็นได้จากหลุมฝังศพที่เรียงรายอยู่ในสุสานทหารสัมพันธมิตรจังหวัดกาญจนบุรี  ทางฝั่งด้านซ้ายของสุสานนั้นจะมีหลุม ฝังศพประมาณ 10 -15  แถว  ซึ่งแถวแรกเป็นหลุมฝังศพของเชลยศึกที่เสียชีวิตในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2486  และแถวถัดมาใกล้ ๆ กัน  เป็นหลุมฝังศพของผู้เสียชีวิตในปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคมในปีเดียวกัน  ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ  เพียงแค่ 7 – 10 วัน

Go to top
JSN Dona 2 is designed by JoomlaShine.com | powered by JSN Sun Framework